กัดปริ๊น แบบ กาแฟ โบราณ สูตรกลมกล่อม

กัดปริ๊น แบบ กาแฟ โบราณ สูตรกลมกล่อม

การสร้าง ตัวต้นแบบ (Prototype) เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลาย ๆ ท่านจะต้องลงมือทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ออกแบบว่าจะทำอไะร ออกแบบวงจร ซื้ออุปกรณ์ วาดลายวงจร กัดปริ๊น บัดกรีลงอุปกรณ์ ทดสอบ หากมี ไมโครคอนโทรลเลอร์ อยู่ด้วย ก็ต้องเพิ่มส่วน เขียนโปรแกรม อีกขั้นตอนหนึ่ง นอกจากนั้นหากเป็นผู้ทำสินค้าขายเองแล้ว ก็ต้องมาดูเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อีกต่างหาก ในส่วนการกัดปริ๊นนั้น หลาย ๆ ท่านก็ยังนิยมลงมือทำด้วยตังเองในส่วนของ ตัวต้นแบบ อยู่ ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วการกัดปริ๊นที่ปฏิบัติกันมาแต่ก่อนเก่านั้น ก็ยังคงเป็นอะไรที่ง่าย ๆ แถมประหยัดเงินอีกด้วย และสำหรับผู้เริ่มต้น การกัดปริ๊นแบบ Dryfilm คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ด้วยความชำนาญ ผู้ที่ต้องการศึกษาทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือกำลังคิดที่จะศึกษาต่อทางด้านนี้ จำเป็นที่จะต้องรู้ในพื้นฐานงานทางด้าน อิเล็กทรอนิกส์ บ้าง ก่อนที่จะเข้าศึกษาไปสู่งาน ระบบสมองกลฝังตัว (Emdedded System) ที่เน้นลงอุปกรณ์แบบ SMD ดังนั้น บทความนี้เราจึงเสนอ การกัดปริ๊น แบบวิธีดั้งเดิม เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้เริ่มต้นทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ให้รู้พื้นฐานต่าง ๆ ก่อนที่จะนำไปสู่บทความประยุกต์อื่น ๆ  ด้วยอุปกรณ์ง่าย ๆ ที่สามารถหาใช้ได้ในบ้านของคุณเอง เราขอเรียกว่าเป็น วิธีกัดปริ๊นแบบ กาแฟโบราณ สูตรกลมกล่อม ครับ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการกัดปริ๊น จะประกอบด้วย


1.กรดกัดปริ๊น(ราคาย่อมเยาว์ จำนวนใช้งานได้มากครั้ง) หรือ น้ำยากัดปริ๊น(ราคาแพงหน่อย จำนวนใช้งานได้น้อยครั้ง)
2.แผ่นทองแดง แบบหน้าเดียว หรือ 2 หน้า (หากต้องการความแข็งแรง ควรเลือกแผ่นแบบ อีพร๊อกซี่)
3.เลื่อย และ กระดาษทราย (หาซื้อตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างแถวบ้าน) และ คัทเตอร์ 
4.แผ่นใส 
5.เตารีด
6.ถาดสำหรับใส่น้ำยากัดปริ๊น เพื่อใช้ในการแช่แผ่นทองแดง
7.ปากกา Permanent

สำหรับราคาค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้น หากยังไม่เคยมีอยู่เลย ลงทุนซื้อในครั้งแรกอย่างหรู ๆ ไม่เกิน 500 บาทครับ ครั้งต่อไปก็ซื้อแค่แผ่นทองแดงกับแผ่นใสเท่านั้น

เริ่มต้นที่ เรามีลายวงจรที่ออกแบบไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เรานำไป Xerox แผ่นใสครับ เพื่อเราจะนำมารีดลงบน แผ่นทองแดง เนื่องจากว่าหมึกดำที่ใช้ Xerox เอกสารนั้น เป็นหมึกแบบ Permanent ครับ

เมื่อได้แผ่นใสที่ Xerox ลายวงจรแล้ว ก็ให้นำแผ่นใสด้านที่มีหมึกดำ ทาบลงทนแผ่นทองแดงครับ แล้วนำเตารีดปรับไปที่ความร้อนสูงสุด แล้วนำกระดาษวางรองพื้นอีกชั้น ขั้นระหว่างแผ่นใสกับเตารีด เพื่อไม่ให้แผ่นใส ละลาย เตรียมในขั้นตอนนี้แล้วก็เริ่มรีดทับลายได้เลยครับ  ที่เราต้องรีดให้ลายลอกอยู่บนแผ่นทองแดงเพราะ หมึกแบบ Permanent นั้น เวลานำไปแช่น้ำยากัดปริ๊นแล้ว จะทำให้ส่วนที่มีหมึกอยู่ ไม่หลุดลอกออกมาครับ

รีดจนกว่าหมึกที่ Xerox ลงบนแผ่นใส เวลาที่ใช้ในการรีด แค่ 2-3 นาที แต่ต้องใช้ไฟแรง และต้องทั่วถึงครับ

เมื่อได้ลายอยู่บนแผ่นทองแดงแล้ว หลังจากนั้น ลอกแผ่นใสออกมา แล้วเช็คลายบนแผ่นทองแดงว่า ลายที่ออกแบบไว้ ขาดตรงไหนหรือเปล่า หากพบจุดขาด หรือไม่แน่ใจว่า ส่วนนั้น ๆ มีหมึก permanent จากการรีด อย่างทั่วถึง ให้นำปากกา permanent แต้มลงไปเพื่อย้ำอีกที เวลาแช่กรดแล้ว ส่วนนี้จะได้ไม่หลุดหายไป

เมื่อคุณมั่นใจแล้วว่า ได้แต้มหมึก permanent ส่วนที่จะเป็นลายวงจรตรงจุดที่ต้องการแล้ว เวลาแช่กรดจะไม่หลุดหายไป ต่อไปก็ให้คุณเตรียมน้ำยากัดปริ๊น หรือกรดกัดปริ๊น ที่เป็นก้อน (เอามาละลายในน้ำ) ใส่ลงในถาดที่เตรียมไว้ แล้วนำแผ่นที่ลอกลายลงบนทองแดง แช่ลงไป หากแช่เฉย ๆ จะกินเวลาในการกัดทองแดงออกนาน

มีเทคนิคอยู่บ้างที่จะช่วยลดระยะเวลาส่วนนี้ลงไป คือ การเขย่าถาด และ การทำให้กรดกัดปริ๊นมีอุณหภูมิสูงขึ้น สิ่งหล่านี้ จะช่วยลดเวลาในการกัดทองแดง ได้เยอะครับ ในรูป ผมได้ต้มน้ำเปล่า เอาไปผสมกับ น้ำยากัดปริ๊นครับ

จะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า หากน้ำยาเริ่มออกฤทธิ์แล้ว จากสีเหลือง จะค่อย ๆ กลายเป็นสีเขียวอ่อนครับ

 ระหว่างนั้นท่านสามารถสังเกตที่แผ่นทองแดงว่า ตอนนี้ ส่วนที่เป็นทองแดงได้เริ่มหลุดหายออกไปบ้างแล้ว


เมื่อเห็นว่า ทองแดงหลุดลอกออกหมดแล้ว ให้นำไปล้างน้ำยากัดปริ๊นออก จากนั้นเอา ทินเนอร์ ล้างหมึก permanent ออกครับ ก็จะได้ลายวงจร สมบูรณ์ 

หากออกแบบ อุปกรณ์เป็น DIP หลังจากนั้นก็เข้าสู่การเจาะรูเพื่อเสียบขาอุปกรณ์เตรียมบัดกรีต่อไป  หรือหากออกแบบเป็น SMD มาก็ไม่ต้องเจาะครับ