สัมภาษณ์ อาจารย์ นักวิจัย รศ. ณัฐวุฒิ ขวัญแก้ว

สัมภาษณ์ อาจารย์ นักวิจัย รศ. ณัฐวุฒิ ขวัญแก้ว

ThaiEasyElec.com Special Article ทีมงานเรา มีนัดกันที่ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบสมองกลฝังตัวเพื่อการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ http://www.caesar-lab.com โดยระหว่างทางขึ้นไปบนตึกของคณะ ได้เดินผ่านห้องโชว์ผลงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าเป็นห้องที่ดูน่าสนใจ และน่าทึ่งมากครับ เนื่องจากห้องดังกล่าวจัดโชว์ผลงานได้สะดุดตาแก่คนภายนอกที่เดินผ่านไปมา และเห็นชัดเจนดีครับ ถ้าหากว่าเป็นเด็ก ม.ปลาย ที่เดินผ่านมาแถวนี้ คงจะสนใจที่จะเรียนที่คณะนี้อย่างแน่นอนครับ

วันนี้ พวกเรา ThaiEasyElec.com ขอนัดสัมภาษณ์ รศ. ณัฐวุฒิ ขวัญแก้ว ผู้ก่อตั้ง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบสมองกลฝังตัวเพื่อการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเรื่องมุมมองและแนวคิดของการบริหารจัดการ และ ประสบการณ์งานวิจัยที่ผ่านมาที่มีความผูกพันกับ Embedded System มาโดยตลอด ทางเรา ThaiEasyElec.com  จะขออนุญาตนำบทสัมภาษณ์นี้มาเป็นบทความแรกของนิตยสาร online หมวดสัมภาษณ์นักวิจัยครับ

สนุกในสิ่งที่ทำ
เส้นทางก่อนเข้ามาสู่งานทางสาย Embedded System อาจารย์กล่าวว่า หลังจบม. 6 ได้เข้า ศึกษาที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.เกษตร รหัส 26 (2526) หลังจากจบก็เรียนปริญญาโทต่อที่ม.เกษตร เลย เพราะคิดว่าตนเองยังมีความรู้ไม่เพียงพอ และยังทำอะไรได้ไม่มาก ตอน ป.โท ก็ได้ทุนวิจัย จาก STDB – Science and Technology Development Board  ทำวิจัยเรื่อง PABX  (ระบบตู้ชุมสายโทรศัพท์) โดยอาจารย์ทำวิจัยไปด้วยเรียนป.โทไปด้วย พอทำงานวิจัยไปแล้วก็รู้สึกสนุกดี  แม้ว่าตัวอาจารย์เองจะไม่ได้เรียนป.โททางด้าน Communication Engineering หรือ Electronics Engineering แต่เรียนทางด้าน Control Engineering และได้มาทำงานมาทาง Embedded System จึงเกิดความสนุก และกลายมาเป็นความชอบ เมื่อเรียนจบ ได้ถูกชักชวนให้เป็นอาจารย์ต่อ ซึ่งตนเองคิดว่าคงจะทำงานเป็นอาจารย์ไปประมาณ 6 เดือน แล้วจะลาออก  แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะทำไปแล้วสนุก ถึงแม้ว่าจะได้ทุนไปเรียนต่อแต่ก็ปฏิเสธ จนทำให้กลายมาเป็นอาจารย์ที่ม. เกษตร จวบจนถึงปัจจุบัน

ช่วงที่อาจารย์ ทำงานวิจัย PABX อาจารย์และทีมวิจัย ได้ออกแบบ PABX ให้เป็นลักษณะ Multiprocessor ภายในอุปกรณ์ PABX จะเป็นลักษณะเป็น rack มีช่องเสียบ card ซึ่งแต่ละ card จะมีหน้าที่การทำงานต่าง ๆ โดยตอนนั้นเลือกใช้ ไมโครคอนโทรลเลอร์ตระกูล 68000

อาจารย์ร่วมทำงานวิจัยชิ้นนี้จนสำเร็จ แต่ก็ยังค้นคว้าและฝึกฝนหาความรู้ด้าน Embedded ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ชีวิต กิน นอน อยู่ที่ ม.เกษตร  ตอนหลัง อาจารย์ ปราโมทย์ ศรีสุขสันต์  ซึ่ง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา (ปัจจุบันทำงานอยู่ NECTEC) ได้ขอทุนจาก NECTEC มาให้  ทำวิจัย PABX ระดับที่ใหญ่ขึ้น ทำระบบ switching แบบ non-blocking โดยเลือกใช้โครงสร้างระดับ high end  ซึ่งทีมที่ร่วมงานกันนี้ เป็นทีมที่ Form ขึ้นมาใหม่ โดยที่มีนักศึกษาปี 4 ที่ทำโปรเจคร่วมกันมากับอาจารย์มาร่วมงานด้วยกัน อาจารย์และกลุ่มวิจัยชุดนนี้ ทำงานวิจัยให้ NECTEC อยู่ประมาณ 3-4 ปี เนื่องจากงานวิจัยที่ทำเป็นระบบใหญ่ และเป็นระบบ PABX  switching แบบ non-block ที่มีจำนวนพันถึงสองพันคู่สาย จึงทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการค้นคว้าวิจัยนาน จนสุดท้ายทีมวิจัยชุดนี้ได้มีบริษัทในประเทศสนใจซื้อตัวไปทำงาน เพื่อช่วยงานวิจัยของบริษัท และเชิญอาจารย์เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยอีกด้วย

การทำงานวิจัยเพื่อให้ผลลัพธ์กับบริษัทของอาจารย์ จึงมีจุดเริ่มต้นจากตรงนี้ และทีมงานวิจัยนั้นก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ทั้งสิ้น หลังจากนั้นอาจารย์ก็ได้ทำงานวิจัยครั้งใหม่กับ NECTEC ในหัวข้อเครื่อง PCT ซึ่งเป็นเครื่องรุ่นแรก ๆ ที่สามารถพิมพ์ภาษาไทยได้  โดยได้รับความช่วยเหลือจาก Telecom Asia (True Move ปัจจุบัน) แต่งานวิจัยครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาดมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม อาจารย์ก็ได้ประสบการณ์จากงานครั้งนี้มาก

ในช่วงหลังจวบจนปัจจุบัน อาจารย์มุ่งเน้นงาน 2 ด้าน คือ ทางด้านไมโครคอนโทรลเลอร์ ตระกูล MSP430 โดยมุ่งเน้นที่ Application ของตัวระบบ Wireless Sensor Network โดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นระบบที่ใช้พลังงานต่ำ (Low Power Consumption) และทางด้านระบบในระดับ High-end จำพวก Embedded Linux โดยมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นชัดเจนเพื่อนำไปใช้งานได้จริง

การเรียนทางด้าน Embedded System ไม่มีทางลัด
สำหรับการเรียนการสอนทางด้าน Embedded System สไตล์การสอน ของอาจารย์ เป็นการหัดนักศึกษาให้ลงมือทำงานวิจัยจริง และทำให้เป็น โดยเน้นถามนักศึกษาว่า สิ่งที่เรียนนี้ มันบอกอะไรเราได้บ้าง มีเหตุและผลอะไร สามารถเอาไปใช้ได้อย่างไร จึงทำให้นักศึกษาเกิดการคิดค้นขึ้นมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การคิดวิเคราะห์ เป็นธรรมชาติของงานทุกประเภท หากเรารู้จักวิธีการคิดวิเคราะห์ ก็จะเป็นพื้นฐานของอาชีพทุกอย่าง รวมถึงงานทางด้านสายวิจัยและพัฒนา ก็เช่นกัน เราก็ต้องวิเคราะห์และแก้ปัญหาโดยการตั้งคำถาม หาเหตุและผล เพื่อที่ให้ได้ Output ที่เราต้องการนั่นเอง

นอกจากนี้ อาจารย์ยังบอกอีกว่า คนที่สนใจงานทางด้านนี้ ไม่จำเป็นต้องมี Skill มาก่อนเลยก็ได้ ทุกคนมีต้นทุนไม่ต่างกัน ขอให้มีใจรัก หัดคิด และทำความเข้าใจงาน เพื่อสร้าง Logic งานที่รองรับสำหรับนักวิจัยที่จบออกไป อาจารย์กล่าวว่า ความจริงมีที่ให้เข้าไปทำงานมากมายแต่ว่า เราต้องเป็นของจริง เป็นคนเก่งจริง แต่กว่าจะเป็นของจริงได้ ต้องอาศัยเวลา ไม่มีทางลัด  คุณต้องลงมือทำ สร้าง skill เป็นของตนเอง

ลูกศิษย์ต้องเก่งกว่าอาจารย์ 
ในระดับ ป.ตรี อาจารย์จะให้โจทย์วิจัย และ ระบบไปศึกษาและทำขึ้นมา จึงเป็นการสอนแบบ  learning by doing และสำหรับนักศึกษา ป.โท จะถูกตั้งโจทย์วิจัยให้ไปคิดเองทำเอง วางแผนเอง หากเป็นนักศึกษา ป.โทที่ได้จบป.ตรีจาก LAB อาจารย์มาก่อน ก็จะมีพื้นฐาน สามารถรับมือกับโจทย์วิจัยของอาจารย์ได้  และสามารถที่จะคิด วางแผน ออกแบบเองได้

โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้านักศึกษาทำไปซักพัก ประมาณ 5-6 เดือน หากทำแล้วสนุก ก็จะเริ่มออกแบบ และวางแผนเองได้ ดังนั้นสังคมในห้อง LAB จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงนักศึกษาที่เริ่มมีความสนใจ ให้ชัดเจนและกล้าปฏิบัติในแนวทางของการวิจัยมากขึ้น โดยต้องยอมรับว่า ถ้าอยากเก่ง คุณอาจจะต้องเสียสังคมบางส่วน เพื่อทุ่มเทกับการเรียนรู้ แต่ถ้าสามารถจัดระเบียบเวลาของตัวเองได้ดี ก็จะไม่เสียสังคมส่วนใดเลย 

LAB ของอาจารย์จะใช้วิธีพี่สอนน้องเป็นหลัก โดยทุกวันนี้ก็มีศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว กลับมาเยี่ยม และช่วยสอนให้คำแนะนำน้องๆในห้อง LAB ตลอด ถึงแม้ศิษย์เก่าเหล่านั้นจะไม่ได้ค่าเหนื่อยอะไรเลย แต่ทุกๆคนก็มาด้วยความผูกพัน ซึ่งเมื่อมีโอกาสได้เงินทุนจากแหล่งใดมา อาจารย์ก็นำมาช่วยเหลือนักศึกษาต่อไป

เป้าหมายของ LAB ในแบบของอาจารย์คือต้องการให้จบไปเป็นนักวิจัย ซึ่งถ้ามีอย่างน้อย 10% ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากแล้ว อาจารย์กล่าวว่า รู้สึกเสียดายที่ลูกศิษย์หลายคนจบออกไปไม่ได้ทำงานทางด้านการวิจัยและพัฒนา โดยอาจารย์ยังกล่าวอีกว่า ถ้าความจริงหากยังมีใจรัก ก็อยากให้ทำอะไรออกมาขาย เป็นอาชีพเสริม เนื่องจากรู้สึกเสียดายที่อุตสาห์ฝึกยอดฝีมือแล้ว ปล่อยไป

หลายคนที่จบจาก LAB ที่นี่ก็ยังยินดีที่จะกลับมาช่วยงานอาจารย์ โดยเอาแรงเป็นทุน แลกกับความรู้และความสนุก หลาย ๆ งานวิจัยที่มีบริษัทมาติดต่อ เกิดจากผลงานที่ทำขึ้นมาเป็นชิ้นแล้ว ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษา ทั้งที่เรียนอยู่และจบไป โดยที่ไม่เป็นเชิงธุรกิจมากนัก และถ้าอยากให้เพิ่มส่วนไหนก็ยินดีที่จะเพิ่ม และมีค่าใช้จ่ายไม่มาก เพราะอยากให้งานวิจัยต่างๆได้เกิดขึ้นและสามารถนำไปใช้งานได้จริง หากจ้างต่างประเทศวิจัย หรือแม้จ้างบริษัทในไทยก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

ในส่วนของการดูแลจัดการนักศึกษา อาจารย์ก็จะมีการกำหนดวางแผนงานให้ในช่วงแรก สำหรับนักศึกษาป.ตรี และอาจารย์จะเข้ามาดูแลเป็นครั้งคราว โดยส่วนใหญ่ก็ได้ให้นักศึกษาปริญญาโทช่วยดูแลแทน สำหรับนักศึกษาปริญญาโทอาจารย์จะให้เวลาปรึกษามากเป็นพิเศษ ในลักษณะของการประชุมวางแผนเป็นช่วง ๆ เนื่องจากอาจารย์มีงานหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น นักศึกษาปริญญาโทจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยดูแลนักศึกษาปริญญาตรีอย่างทั่วถึง และอาจารย์ยังเห็นว่าเมื่อนักศึกษาทำงานวิจัยไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะมีความรู้มากกว่าอาจารย์อย่างแน่นอน เนื่องจากนักศึกษาให้เวลาและค้นคว้าอยู่กับการวิจัยมากกว่าอาจารย์

เราได้บทสรุปจากนักวิจัยท่านนี้ คือ “Embedded System นั้นไม่มีทางลัด และต้องมีความสนใจ มีใจรัก ที่จะทำจริง ๆ” และต่อไปเด็กรุ่นใหม่ ๆ ก็จะเก่งกว่าเราอีกครับ ดังนั้น เราต้องอย่าหยุดพัฒนาตัวเองครับ แล้วควรรู้จักการแบ่งปันความรู้ให้กับสังคมด้วยครับ

ThaiEasyElec ขอจบบทสัมภาษณ์เพียงเท่านี้ครับ หากท่านใดสนใจ ต้องการติดต่อ รศ. ณัฐวุฒิ ขวัญแก้ว กรุณาติดต่อมาทาง Email : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.”>fengntk@ku.ac.th คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาคาร 14 ชั้น 6

สำหรับ บทความในส่วน สัมภาษณ์นักวิจัยนี้ ThaiEasyElec.com ไม่ได้จำกัดเฉพาะ อาจารย์เพียงอย่างเดียวครับ แต่จะสัมภาษณ์นักวิจัย ผู้สนใจ ทั้งในบริษัท โรงงาน Freelance นักเรียน นักศึกษาระดับ มัธยม , ปวช , ปวส  และ ปริญญา ทุกสถาบัน ขอเพียงท่านเป็นผู้ที่สนใจใน Embedded System และมีผลงาน อยากร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของท่าน กรุณาติดต่อให้เราเข้าไป โดย Email มาที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.”>webmaster@thaieasyelec.comครับ