Preview บอร์ด Raspberry Pi 3 Model B+ รุ่นใหม่ล่าสุด!! จาก Raspberry Pi Foundation

Preview บอร์ด Raspberry Pi 3 Model B+
Official Board รุ่นใหม่ล่าสุด!! จาก Raspberry Pi Foundation

*** คลิกดูรายละเอียดสินค้า EFDV647 Raspberry Pi 3 Model B+ ***

       ชาว Raspberrian คงชะล่าใจว่าไม่มีอะไรออกใหม่แล้ว หลังจากเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมามีการออก Raspberry Pi Zero WH ซึ่งบัดกรี Pin Header เพิ่มเติมให้พร้อมใช้งานมากขึ้น (ไม่น่าจะนับว่าออกตัวใหม่นะ) และผ่านวันเกิด Raspberry Pi เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ไปอย่างเงียบเหงามีเพียงบอร์ดปักอยู่บนเค้กราสพ์เบอร์รี่กับการเล่าเรื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน จนถึงงาน Raspberry Jam ช่วงวันที่ 3 – 4 มี.ค. ที่จัดกันทั่วโลกซึ่งบ้านเราก็จัด Bangkok Raspberry Jam 2018 มีคนเอาผลงานสนุกๆ และน่าสนใจมาร่วมแสดง มีการจัดเวิร์คช็อปสั้นๆ แนะนำการใช้งาน และมีสินค้ามาจำหน่ายพอให้สนุกสนานหายคิดถึงกันขึ้นมาได้บ้าง พอมองย้อนไปฟังที่ Eben Upton เคยให้สัมภาษณ์ในสื่อต่างประเทศไว้ว่า Raspberry Pi 3 Model B จะเป็นสินค้าที่วางจำหน่ายไป 3 ปี ทำให้ตีความได้ว่าคงยังไม่มีออกรุ่นใหม่ก่อนปี 2019 แล้วล่ะ (3B ออกมา ก.พ. 2016)

       แต่… แต่… แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกกับเหล่าสาวกของ Raspberry Pi … เมื่อถึง Pi Day ในวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมาทาง Raspberry Pi Foundation ได้ลงข่าวบนเว็บไซต์ RaspberryPi.org ออกบอร์ดรุ่นใหม่อัพเดทสินค้าที่มีอยู่เดิมในชื่อ Raspberry Pi 3 Model B+ ซะงั้นน่ะ ก็ยังไม่ได้ออกตัวใหม่นะ ยังเป็น 3 อยู่จริงด้วย #แบบนี้ก็ได้เหรอ

       *** Pi Day มาจากการเล่นคำเล่นเสียงของตัว ¶ ที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กใช้ในการคำนวนวงกลม ทรงกลม ทรงกระบอก ว่ามีมันค่าเท่ากับ 22/7 หรือ 3.14 ซึ่งการเขียนวันที่ในประเทศแถบยุโรปใช้เดือนนำหน้าวันเป็น 3/14 หรือเขียนว่า 3.14 ก็ได้เหมือนกัน ดังนั้น Pi Day เลยตรงกับวันที่ 14 มี.ค. ในแต่ละปีนั่นเอง
       Raspberry Pi 3 Model B+ (ราสพ์เบอร์รี่ ไพ ทรี โมเดล บี พลัส ต่อไปขอเรียกว่า 3B+) ยังคงมีพื้นฐานอยู่บนบอร์ด 3B เดิม โดยยังใช้ซีพียูเป็น ARM Cortex-A53 ที่มีแกนประมวลผลจำนวน 4 แกน (Quad-Core) แต่ปรับเพิ่มความถี่ในการทำงานจาก 1.2 GHz เป็น 1.4 GHz ต่อแกน เป็นตัว BCM2837B0 แทน BCM2837 เดิม ที่มาพร้อมฝาครอบช่วยกระจายความร้อนตรงนี้เองมีส่วนช่วยทำให้รันความถี่สัญญาณนาฬิกาสูงขึ้นได้ไหวเนื่องจากความร้อนลดลง       

ส่วนประกอบของ 3B+ ดูจากภายนอกแทบไม่เปลี่ยนแปลง ขนาดและตำแหน่งพอร์ตต่างๆ ยังคงเดิมทั้ง USB Host, Ethernet RJ-45, Audio Out และ Video Out, Full-Size HDMI, micro USB power, Camera CSI 15-pin connector, Display DSI 15-pin connector, GPIO 40-pin header รวมทั้งรูยึดบอร์ดทั้ง 4 จะอยู่ตำแหน่งเดิม ส่วนที่เพิ่มมาคือคอนเนคเตอร์สำหรับ PoE ที่หากใครใช้หรือออกแบบเคสหรือกล่องที่ค่อนข้างโปร่งยกสูงไม่มีอะไรติดกับตัวบอร์ดด้านในก็ยังคงจะใส่บอร์ดนี้ลงไปทดแทน 3B เดิมได้ แต่ถ้าไม่ก็อาจจะติดตรงนี้หล่ะ       

USB-to-LAN with USB Hub ของ 3B+ เปลี่ยนจาก LAN9514 เดิมของ SMSC  แต่ปัจจุบันเป็นของ Microchip ที่รองรับการเชื่อมต่อแบบ Fast Ethernet มาใช้ชิพ LAN7515 จาก Microchip ซึ่งเป็น Gigabit Ethernet แทน แต่ความเร็วสูงสุดทำได้ที่ประมาณ 300 Mbps เนื่องจากข้อจำกัดของตัวชิพเองและคอขวดที่ USB ที่เข้า CPU ด้วย       

บนบอร์ด 3B+ ได้เพิ่มคอนเนคเตอร์เฮดเดอร์สำหรับรองรับ Power-over-Ethernet (PoE) ไม่ได้มีวงจรแปลงไฟอยู่บนบอร์ดนะ และได้ออกบอร์ด PoE HAT เสริมการทำงาน สำหรับดึงไฟ 48 โวลต์ออกมาจาก RJ-45 ไปแปลงเป็น 5 โวลต์เพื่อกลับมาจ่ายไฟเลี้ยงบอร์ดทาง GPIO (แต่ยังไม่มีของพร้อมขายตอนนี้) นอกจากนี้ยังปรับปรุงส่วนของ PXE boot รองรับการบูตผ่าน Ethernet ที่บรรจุอยู่ใน Boot ROM บนซีพียูให้ดีขึ้นและเปิดใช้งานมาให้เป็นค่าเริ่มต้น

(ภาพจาก: www.RaspberryPi.org)

       สำหรับ Wi-Fi และ Bluetooth ยังคงอยู่บนชิพตัวเดียวกัน แต่เปลี่ยนจากชิพ BCM43438 ของ Broadcom เป็นชิพ CYW43455 ของ Cypress ซึ่งซื้อกิจการส่วน Wireless IoT Business ของ Broadcom ไปแล้วเช่นกัน จะอยู่ภายใต้ฝาครอบโลหะป้องกันสัญญาณรบกวนเพิ่มเสถียรภาพในการทำงาน รองรับ Wi-Fi แบบ Dual-Band ทั้ง 2.4 GHz 802.11n และ 5 GHz 802.11ac อินเตอร์เฟสผ่านทาง SDIO ส่วน Bluetooth เป็น Low Energy มาตรฐาน BLE 4.2 อินเตอร์เฟสผ่านทาง UART รวมทั้งปรับมาใช้เสา/สายอากาศเป็นลายวงจร (PCB Trace) ลิขสิทธิ์ของ Proant AB แบบที่ใช้ใน Raspberry Pi Zero W ความเร็วสูงสุดในการทำงานย่านความถี่ 2.4 GHz อยู่ที่ประมาณ 45 Mbps ส่วนในย่าน 5 GHz อยู่ที่ประมาณ 100 Mbps

       ส่วนของการจัดการพลังงานได้มีการปรับปรุงให้ทำงานได้ดีขึ้น จากเดิมใช้ชิพแปลงแรงดัน Step-Down DC-DC Converter แบบกำหนดค่าตายตัวจากแหล่งพลังงานไปจ่ายให้อุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ชิพจัดการพลังงาน Power Management Integrated Circuit: PMIC จาก MaxLinear เบอร์ MXL7704 มีวงจร Buck Converter ควบคุมแรงดัน 4 ชุด ทำให้ตัวซีพียูตรวจสอบ ควบคุม และจัดการพลังงานได้ดียิ่งขึ้นผ่านอินเตอร์เฟส I2C ตัว

       โดยรวมแล้วตัวบอร์ด 3B+ จะมีการใช้พลังงานสูงกว่าบอร์ด 3B เดิม ด้วยความเร็วซีพียูที่เพิ่มขึ้น ชิพเครือข่ายที่รองรับ Gigabit Ethernet และชิพ Wi-Fi ที่เป็น Dual-Band ในโหมด 5 GHz จะกินพลังงานกว่า 2.4 GHz ขึ้นพอสมควร โดยตอนบูตจะกินพลังงานราว 700 mA แม้แต่ตอน Idle ก็ยังกินพลังงานถึง 400 mA ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 230 mA บนบอร์ด 3B ในการใช้งานจึงแนะนำให้เลือกใช้ Official Adapter ของ Raspberry Pi ที่จ่ายได้ 2.5 A หรือแหล่งจ่ายที่มีความน่าเชื่อถือเพื่อเสถียรภาพในการทำงาน
       ระบบปฏิบัติการ Raspbian ก็มีออกอัพเดทให้ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ โดยยังมีพื้นฐานอยู่บน Stretch (Debian 9) แต่เป็น Kernel 4.9.80+ ลงวันที่ 13 มี.ค. 2018 การอัพเดทหลักเพื่อให้รองรับสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาใน 3B+ แต่หากใครที่มีระบบปฏิบัติการเก่า (Stretch ตั้งแต่ ส.ค. 2017 เป็นต้นมา) ใน SD Card แล้วต้องการย้ายมาใช้งานก็สามารถอัพเดทบนบอร์ดเดิม เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งไฟล์เสร็จแล้วก็ย้าย SD Card มาเสียบที่บอร์ดใหม่ใช้งานได้เลย
       สุดท้ายนี้ ThaiEasyElec หวังว่า พรีวิวนี้จะพอทำให้รู้จักส่วนต่างๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาของบอร์ด 3B+ บ้างไม่มากก็น้อย แล้วไว้จะมาแนะนำส่วนอื่นๆ ให้รู้จักเพิ่มเติมต่อไปในโอกาสหน้าครับ

ติดต่อเรา

บริษัท วีนัส ซัพพลาย จำกัด
66/3 ถ.เทศบาลรังสรรค์เหนือ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. 10900
Website : www.thaieasyelec.com
Tel. 02-9542408-9, 089-5148111
Fax. 02-9538443
E-mail : sales@thaieasyelec.com
Line ID : @thaieasyelec